Hot Topic!
นพ.เกษม วัฒนชัย - องคมนตรี 'จะรู้น้อย รู้มาก ก็โกงได้หมด ถ้าหากไม่มีธรรมะในใจ'
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 07,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวอิศรา - -
"...ผมคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการต้องประเมินใหม่ เรื่องการลงโทษผู้บริหารสถานศึกษาที่ทำชั่ว ทำผิด จะลงโทษเหมือนคนธรรมดาไม่ได้ เพราะฐานะของครูและผู้บริหารนั้นสูงเหลือเกิน เพราะเขารับผิดชอบอนาคตของประเทศเรา เหมือนกัน นักธุรกิจคุณธรรม ทำกำไรภายใต้กรอบกฎหมาย ศีลธรรม บ้านเมืองก็ได้ประโยชน์ไปด้วย แต่บริษัทสามานย์ ต้องการจะทำกำไรอย่างเดียว ผิดกฎหมายก็เอา สุดท้ายก็ทำร้ายบ้านเมือง.."
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2561 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)หรือ ACT ได้จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่น ชูแนวคิด “คนไทย ตื่นรู้สู้โกง” ที่ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา โดยมี นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้มาบรรยายถึงภัยของการทุจริต
นพ.เกษม วัฒนชัย ระบุว่า "ก็เห็นใจทุกคนที่ต้องทำงานเพื่อการปราบโกง แต่ถ้าประเทศไทยยังมีการโกงอยู่แบบนี้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ก็คงต้องเหนื่อยต่อไปอีกเยอะ ภารกิจการต่อต้านการทุจริตนั้นยังคงจะต้องทำอีกมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการร่วมกันสร้างคนดีให้เกิดขึ้นในบ้านเรา ประเทศไทยนับตั้งแต่เข้าสู้รัชกาลที่ 9 ถือว่าเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ประเทศไทยจะต้องปรับตัวกับหลายๆอย่าง ทั้งความรู้ เทคโนโลยี การค้าขาย การเงิน การคลัง แล้วถ้าเรามาเสียเวลากับเรื่องการปราบทุจริต การปรับตัวของเราซึ่งต้องรวดเร็วและอาศัยปัญญานั้น แล้วเราจะไปสู้ใครเขาได้ ถ้าเรามัวไปนั่งเสียหายกับการทุจริต
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ 5 ท่านได้เคยมีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า ให้วิตกไว้ว่าเด็กชั้นหลังจะห่างเหินศาสนา กลายมาเป็นคนไม่มีธรรมมะในใจ ซึ่งคนไม่มีธรรมะในใจ ในการดำเนินชีวิตนั้น ก็คงจะเข้าสู่ทางทุจริตได้โดยง่าย และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ถ้ารู้น้อยก็โกงไม่ค่อยคล่อง คือโกงไม่สนิท ถ้ารู้มาก ก็โกงคล่องขึ้น และโกงพิสดารมากขึ้น
ตัวอย่างก็เห็นตลอดในช่วงเวลาการทำงาน 7 ปี ของ ACT นั้น จะเห็นว่าคนที่โกง คนที่ทุจริต มีความรู้สูงกันทั้งนั้น เป็นถึงปลัดกระทรวงบ้างก็มี ดังนั้นไม่ว่าจะรู้น้อย รู้มาก ก็โกงได้หมด ถ้าหากไม่มีธรรมะในใจ
ดังนั้น หัวใจสำคัญก็คือเราจะปลูกฝังธรรมะในใจของคนไทยทุกคนได้อย่างไร ดังที่หลายๆคนได้พูดขึ้นมาว่า ให้สร้างจิตสำนึกตั้งแต่เด็กขึ้นมาเลย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้เคยตรัสว่า หากบุคคลใดมีความรู้สูง แต่ขาดหริโอตตัปปะ คือไม่มีความละอายต่อบาป นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบ ก็จะทำให้สังคมเดือดร้อน
ดังนั้นถ้าคนเราไม่อายสักอย่าง มันก็โกงได้หมด เมื่อหลายปีก่อนผมได้เคยพูดคุยกับฝรั่งที่เขาทำงานในบริษัทข้ามชาติ แล้วเขาก็วิเคราะห์ประเทศต่างๆในอาเซียน อย่างสิงคโปร์ เขาทำอะไรโปร่งใส ไม่มีใต้โต๊ะ บนโต๊ะ ถ้ามีก็น้อยมาก แล้วเขาก็พูดถึงประเทศไทย ซึ่งช่วงนั้นโกงกันเยอะแยะ ว่า การทุจริตของข้าราชการ ของนักการเมือง ความเสียหายไม่ใช่แค่เงินที่โกงไปเท่านั้น เพราะว่าสิ่งแวดล้อมในการบริหารบ้านเมืองมีแต่คนโกง บริษัทข้ามชาติที่เขาอยากจะทำอะไรตรงไปตรงมา เขาจะไม่เข้ามาหา สุดท้ายบ้านเมืองที่โกงมากๆก็จะมีแต่พ่อค้าต่างชาติที่โกง มากๆเข้ามาทำงานกับคนโกง
ยุคนี้ถือว่ามีคนกล้าที่จะสู้โกงเยอะขึ้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ผ่านมารัชกาลที่ 9 ยังได้เคยตรัสอีกว่า ครู อาจารย์ ไม่ใช่แค่สอนความรู้อย่างเดียว แต่ยังต้องอบรมเด็กด้วย
การสอนคือการให้ความรู้แต่การอบรมคือการฝึกจิตใจผู้เรียนให้ซึมทราบติดเป็นนิสัย เพราะการให้ความรู้หรือสอนต่างจากการอบรม ครูอาจารย์มีหน้าที่ 2 อย่างคือสอนและอบรม ถ้าทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่น่าจะเรียนกว่าเป็นครู แต่น่าจะเป็นผู้รับจ้างสอนมากกว่า จริงๆพ่อแม่ก็ต้องอบรมลูกด้วย นอกเหนือจากการเลี้ยงดู ครูเองนอกจากสั่งสอนก็ต้องทำหน้าที่อบรมด้วย
คำถามสำหรับคนไทยตอนนี้ก็คือ พ่อแม่อบรมลูกบ้างหรือไม่ ครูอาจารย์อบรมลูกศิษย์บ้างหรือไม่ หรือเอาแต่สอนหนังสืออย่างเดียว อันที่จริงในที่ทำงาน ผู้บังคับบัญชาก็ควรจะอบรมลูกน้องด้วยเหมือนกัน ซึ่งเราควรจะคิดว่าจะนำเอาความคิดไปใส่ให้เด็กได้อย่างไร ว่าจะต้องเป็นพลเมืองดีของประเทศไทย ซึ่งสิ่งนี้ควรจะต้องเริ่มกันตั้งแต่เด็กๆเลย
ผมเคยคุยกับผู้ที่ทำหน้าที่บริหารการศึกษาของสิงคโปร์ เขาบอกว่าประเทศเขาเล็กนิดเดียว ไม่มีแม้กระทั่งน้ำจืด เพราะยังต้องนำเข้า อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่ใหญ่กว่ามาก บ้างครั้งก็เป็นมิตร บ้างครั้งก็เป็นศัตรู ถ้าระบบการศึกษาของสิงคโปร์ไม่สามารถสร้างเด็กสิงคโปร์รักสิงคโปร์ได้ แล้ววันหลังสิงคโปร์จะอยู่ที่ไหนในแผนที่โลก ใครจะเสียสละเพื่อสิงคโปร์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนไทยไม่เคยคิด เพราะเราไม่เคยเสียเอกราชให้กับประเทศไหน ในความที่เราไม่เคยเสียเอกราชนั้นเป็นของดี แต่ถ้าเราไปเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านั้นแล้วลืมสร้างคนรุ่นใหม่ของประเทศเรา ให้มีความรักรับผิดชอบในประเทศเรา อันนี้ถือว่าหนักหนามาก แล้วถ้าปล่อยให้โกงกันตั้งแต่เด็กๆเลย โกงข้อสอบ โกงการบ้าน โตขึ้นมาก็ลอกรายงาน ซื้อธีสิส ซื้อวิทยานิพนธ์ แบบนี้มันผิดหมดเลย ผมคิดว่าเราอาจต้องมาเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ในบ้าน ในโรงเรียน ในทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทั้งรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 9 รวมไปถึงรัชกาลที่ 10 ก็ได้ทรงรับสั่งเอาไว้
หน้าที่เด็กๆนั้นควรจะเรียนด้วยกัน 3 อย่างคือ
1.เรียนความรู้
2.หัดทำการงาน เพื่อให้พึ่งตนเองได้ และ
3. ต้องหัดทำความดีด้วย ซึ่งปัญหาระบบการศึกษาไทยอีกอย่างก็คือเราไม่เคยสอนให้เด็กหัดทำการงานเลย มีแค่เรียนหนังสือในชั้น นอกชั้นก็ไปกวดวิชา และสุดท้ายก็ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง พ่อแม่ก็ไม่อยากให้ทำอะไร ครูบาจารย์ก็ไม่ได้สอนให้ทำอะไร ขอให้สอบเข้าได้ก็พอแล้ว สรุปเลยพังหมดเลย เพราะเด็กลำบากไม่เป็น เด็กรุ่นใหม่กลายเป็นว่าอยากได้อะไรที่มันสบายๆ ไม่ต้องทำงานหนัก อันนี้เป็นกระแสที่ ต้องเปลี่ยน ต้องให้เด็กได้รู้การทำงานตั้งแต่ยังเด็ก
ส่วนการทำความดีนั้นก็ช่วยเด็ก ให้มีความสุข ความเจริญ ป้องกันตัวเองไว้ไม่ให้ตกต่ำ หรือก็คือโตไปโกงนั่นเอง เช่นเป็นอธิบดีแล้วก็ไปติดคุกอีก 15 ปี แล้วเป็นปลัด ก็ต้องไปติดคุกอีก 8 ปี นี่แหละเรียกว่าความตกต่ำ
ผมอยากจะแทรกให้นิดหน่อย ประเทศจีนเขาเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วเขาก็ปฏิเสธศาสนาหมด แต่เมื่อ 7-8 ปีก่อนเขามานั่งนึกว่ามันทำแบบนี้ไม่ได้ ดังนั้นตอนนี้จีนเลยเอาเรื่องจริยธรรมที่เกี่ยวกับขงจื๊อกลับมาสอนเด็กในระดับอนุบาล ประถม ซึ่งตอนนี้ผมกำลังขอให้แปลเรื่องนี้อยู่ ถ้าเด็กท่องตรงนี้ได้ เขาบอกว่าเวลาเด็กโตไป เวลาจะไปทำผิด สิ่งท่องเอาไว้ จะกลับมาเตือนเรา ซึ่งผมว่าสิ่งที่ประเทศจีนคิดไว้ก็ไม่เลวเหมือนกัน
ถ้าจะเปรียบในเรื่องของโรงเรียน 2 โรงเรียนก็เป็นโรงเรียนคุณธรรม กับโรงเรียนสามานย์ โรงเรียนคุณธรรมผู้บริหารเสียละเพื่อโรงเรียน โรงเรียนสามานย์ ผู้บริหารทำเพื่อตนเอง เช่นโกงค่าอาหาร โกงค่าต่างๆ โรงเรียนคุณธรรม ครู อาจารย์เป็นคนดีมีน้ำใจ สอนอบรมณ์ลูกศิษย์ แต่โรงเรียนสามานย์ ครูอาจารย์ ไม่รักและยังทำร้ายลูกศิษย์ ผลของโรงเรียนคุณธรรม นักเรียนเป็นคนดีของบ้านเมือง ผลของโรงเรียนสามานย์ เด็กจะได้แต่สิ่งชั่วร้ายจากโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนไม่ใส่สถานที่ที่เด็กจะไปเรียนรู้เรื่องความชั่วร้าย โรงเรียนต้องสร้างสิ่งแวดล้อมของความดีงามให้เกิดขึ้น
ผมคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการต้องประเมินใหม่ เรื่องการลงโทษผู้บริหารสถานศึกษาที่ทำชั่ว ทำผิด จะลงโทษเหมือนคนธรรมดาไม่ได้ เพราะฐานะของครูและผู้บริหารนั้นสูงเหลือเกิน เพราะเขารับผิดชอบอนาคตของประเทศเรา เหมือนกัน นักธุรกิจคุณธรรม ทำกำไรภายใต้กรอบกฎหมาย ศีลธรรม บ้านเมืองก็ได้ประโยชน์ไปด้วย แต่บริษัทสามานย์ ต้องการจะทำกำไรอย่างเดียว ผิดกฎหมายก็เอา สุดท้ายก็ทำร้ายบ้านเมือง
มีนักเศรษศาสตร์จากออสเตรเลียเขาเคยเปรียบเทียบว่าทุนนิยมสามานย์เหมือนกับตั๊กแตนลงนาข้าวโพด กินจนหมด เหลือแต่ซาก แต่ถ้าเป็นผึ้ง พอข้าวโพดออกดอก มันก็มากินน้ำหวาน ผสมเกสรให้กับผึ้ง พอมันจากไปข้าวโพดก็ออกฝัก ซึ่งแบบหลังเขาเรียกว่าทุนนิยมแบบคุณธรรม
การยึดมั่นในความถูกต้องเทียงธรรมนั้นถือเป็นหัวใจของระบบการศึกษาในอังกฤษ ที่เขาพยายามสร้างลูกหลานให้มีความสมบูรณ์ ซื่อสัตย์สุจริต สิ่งสำคัญคือต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปฏิเสธความชั่ว ปฏิบัติตามกติกา ยึดมั่นในความถูกต้อง มีน้ำใจนักกีฬา และการคิดถึงคนอื่น ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทางนอร์เวย์เขาเคยทำวิจัยออกมาว่า 1.ถ้าฝึกให้เด็กเห็นอกเห็นใจคนอื่น 2.สามารถร่วมมือกับคนอื่น 3.และเชื่อใจคนอื่นนั้น ชีวิตเขาก็จะมีความสุข ซึ่งตรงนี้ทางประเทศในแถบสแกนดิเนเวียจะเน้นให้เด็กมีใน 3 ส่วนนี้มาก
สรุปในตอนนี้ก็คือการทำงานเพื่อต่อต้านโกงนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก และจะจบเมื่อไรก็ไม่รู้ ก็อยู่ที่คนไทยทั้งรุ่นนี้และรุ่นหน้าที่จะไปดำเนินการให้ได้
สุดท้ายผมก็ต้องขอฝากพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตอนที่ทรงพระประชวรเอาไว้ว่า ช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง การสร้างคนดีเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ต้องทำ ขอให้ถือเป็นหน้าที่ ถ้าหากไม่ทำ ผมคิดว่าประเทศก็คงจะมีความพินาศ ดังที่เราเคยเห็นมาแล้ว
และนอกจากนี้เมื่อต้นปี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ก็รับสั่งให้พล.อ.เปรมและพวกเราเข้าเฝ้า ท่านก็พระราชทานพระบรมราโชบาย ด้านการศึกษา มีพระราชประสงค์จะให้ลูกหลานเรามีพื้นฐานในการเรียนที่ดี 4 ข้อ คือ
1. ต้องรู้จักบ้านเมืองของตนเอง
2. ต้องแยกชั่วแยกดีได้ และต้องยึดมั่นความดีได้
3.ต้องทำงานเป็น และ
4.ต้องเป็นพลเมืองดี ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ทำทั้ง 4 ข้อ ในโรงเรียนต่างๆแล้ว ตามภารกิจการสร้างคนดี”
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน